อบจ.โคราช เตรียมพร้อม รพ.สต. ในสังกัดฯ จับมือ “ราชภัฏโคราช”
ดันโควตา นร.อบจ. เข้าคณะ “พยาบาลฯ และ สาธารณสุขฯ” หวังให้เด็กจบมารับใช้ชุมชนบ้านเกิด

อบจ.โคราช ลุยสร้างพันธมิตรด้านการศึกษา ล่าสุด ลงนาม “MOU” ม.ราชภัฏโคราช ผลักดันโควตา นักเรียนสังกัด อบจ. เรียนต่อ คณะพยาบาลศาสตร์ และ คณะสาธารณสุขศาสตร์ เพื่อผลิตบัณฑิตด้านพยาบาลและสาธารณสุขคุณภาพ ส่งต่อ รพ.สต.ในสังกัด อบจ. เพื่อกลับมารับใช้บ้านเกิดในระบบปฐมภูมิให้กับท้องถิ่น เพราะนั่นคือ “การพัฒนาพื้นที่อย่างแท้จริง”

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา และ รศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยคณะพยาบาลศาสตร์ และ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ในการสนับสนุนการผลิตและพัฒนาบุคลากรในภารกิจด้านสาธารณสุข เพื่อตอบสนองความต้องการระบบสุขภาพภายใต้ความร่วมมือของสององค์กร โดยเน้นสนับสนุนโควตาให้นักเรียนสังกัด อบจ. เข้าศึกษาต่อในคณะพยาบาลศาสตร์และคณะสาธารณสุขศาสตร์ ของ มรภ.นม. นอกจากนี้ในส่วนของ อบจ. ที่มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ในสังกัด 182 แห่งนั้น ทาง อบจ. ก็จะให้การสนับสนุนด้านสถานที่ฝึกปฏิบัติงานสำหรับนักศึกษาของทางมหาวิทยาลัย ที่กำลังจะจบหลักสูตร สามารถเข้ารับการฝึกประสบการณ์ ณ รพ.สต. ได้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้มีกรอบระยะเวลาในการดำเนินงานร่วมกัน 4 ปี

นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา “อบจ. มีโรงเรียนในสังกัดจำนวน 58 แห่ง และล่าสุดรับถ่ายโอน รพ.สต. มาอยู่ในสังกัดอีกจำนวน 182 แห่ง จึงมีแนวคิดที่จะสร้างโมเดลทั้งด้านการศึกษาและด้านสาธารณสุขให้สอดคล้องกับนโยบายของนายกเพื่อพัฒนาในทุกมิติไปพร้อมกัน รวมถึงการทำ MOU ในครั้งนี้ก็เช่นกัน อบจ.ต้องการที่จะผลักดันนักเรียนในสังกัดฯ ให้เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาโดยเฉพาะด้านพยาบาลศาสตร์ และ สาธารณสุขศาสตร์ ซึ่ง 2 สาขานี้ยังขาดแคลนบุคลากรโดยเฉพาะ รพ.สต. ที่ย้ายมาสังกัดฯ ยังคงต้องการบุคลากรอีกเป็นจำนวนมาก ฉะนั้น หากทาง มรภ.นม. และ อบจ. มีการศึกษาแนวทางร่วมกันในการสนับสนุนให้นักเรียนเข้าศึกษาต่อในรูปแบบโควตา ตามจำนวนและเกณฑ์ของการรับโควตาตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด มั่นใจว่าจะสามารถป้อนบุคลากรคุณภาพกลับมาพัฒนาชุมชน ยิ่งไปกว่านั้น อบจ.พร้อมสนับสนุนงบประมาณทั้งในส่วนของงบสนับสนุนนักเรียนเข้าศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้น และงบสำรองเพื่อให้เด็กได้มีโอกาสเข้าเรียนในสาขาวิชาที่จำเป็นสอดคล้องกับบริบทของ อบจ. ที่สำคัญ เด็กจะได้กลับไปพัฒนาและรับใช้ชุมชนบ้านเกิด เพราะนั่นคือ “การพัฒนาคนในพื้นที่อย่างแท้จริง”